Wednesday, April 16, 2008

Recurrent Training

Recurrent Training

ห่างหายจากการคุยกับตัวเองไปหลายวัน
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ชีวิตยุ่งเหยิงจากการเรียน
แม้จะงุนงงไปบ้าง แต่ก็ทำใจได้
เอาเถอะ เค้าจ้างให้เรียนปีละไม่กี่วัน ก็อย่าบ่นไปเลย
การเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินนั้น จำเป็นต้องมีการเทรนเพื่ออัพเดทความรู้อยู่ตลอดเวลา
ในแต่ละปี จะต้องมีหนึ่งครั้งที่พวกเราลูกเรือจะต้องไปเรียนหนังสือเพื่อเป็นการ "ปัดฝุ่น" ไม่ให้ความรู้ขึ้นสนิม
และเอาความรู้นั้นมาสอบเพื่อต่ออายุใบอนุญาตทำการบิน
ไบอนุญาตที่ว่านี้มีอายุแค่ปีเดียวเท่านั้น หากไม่ได้เข้าเรียน และสอบตามกำหนด
ใบอนุญาตก็จะหมดอายุ แล้วก็ต้องเรียนใหม่สอบใหม่ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพนี้ได้ต่อไป
มันก็คงหมือนกับใบประกอบโรคศิลป์ของหมอ เภสัช พยาบาล หรือใบประกอบวิชาชีพของพวกวิศวะนั่นแหละ
เราเอง แม้ว่าจะเคยเรียน Recurrent มาแล้วจากที่ทำงานเก่า
แต่สำหรับการทำงานที่นี่ เราเพิ่งเทรนRecurrent ครั้งนี้เป็นครั้งแรก
เลยออกจะตื่นเต้นเหมือนไม่เคยRecurrent มาเลย
เพราะรู้ๆกันอยู่ว่าที่สายการบินนี้สอบ Safety และ First Aid โหดมาก
กลัวว่าจะสอบไม่ผ่าน ต้อง Re-Sit ดีไม่ดีต้องรอเรียนกับชั้นเรียนเดือนหน้า อันนี้น่ากลัวมากมาย
เลยออกแนวเครียดและสับสน
ยิ่งเจี๊ยบ เพื่อนสนิทในรุ่นโทรมาออกอาการนอยด์ๆว่ามันยากเย็น ก็ยิ่งประสาทเสีย
จะหยิบหนังสือมาอ่าน ก็ไม่รู้จะอ่านยังไงตรงไหน
เพราะไบเบิลเล่มแดงของลูกเรือนั้น จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก
ที่ว่าง่ายก็คือเค้าถามอยู่ในหนังสือนั่นแหละ ไม่เอาจากที่อื่นมาออกสอบแน่นอน
แต่ที่ว่ายากคือ ต้องทำความเข้าใจและจำไอ้ที่อยู่ในเล่มนั้นให้ได้เปร๊ะๆทั้งหมด
ฮือๆๆ ปลาทองสมองวุ้นอย่างเราจะจำได้ยังไง T_T

มาเริ่มวันแรกกันดีกว่า

First Day - - > First Aid
วันแรก พวกเราต้องไปเรียน brush up กันที่สถาบันเวชศาสตร์การบิน
ลูกเรือทุกคนในประเทศไทยต้องไปเรียนที่นี่กันทั้งนั้น เพื่อจะได้ตรงตามมาตฐานของกรมการบินพาณิชย์
เรื่องที่เรียนก็ไม่ต่างจากที่เคยเรียนมาแล้วแต่เค้าจะพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกให้ซึมเข้าไปในสมองกลวงๆของเรา
เช่นเรื่องของทฤษฎีของสภาวะร่างกายขณะทำการบิน เรื่องของการจัดการกับร่างกายตัวเองขณะบิน
ตลอดจนสิ่งต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายของเราในขณะบิน
เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ฟังสนุก เพราะเราชอบเรียนอะไรที่เกี่ยวกับการบินอยู่แล้ว เลยฟังผ่านๆไป ไม่ยากเท่าไหร่
ต่อไปก็ว่าด้วยเรื่องของโรค หรืออาการต่างๆที่อาจพบได้ขณะที่เราทำการบินอยู่
มีทั้งโรคเล็กๆ จัดการรับมือกับมันได้ง่ายๆ
ไปจนถึงโรคที่ไม่สามารถจัดการกับมันได้ ต้องปฐมพยาบาลแล้วเอาเครื่องลงส่งต่อแพทย์ลูกเดียว
ภาคบ่าย เราเรียนรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลทุกชนิด
ซึ่งที่จริง เราเองก็โดนสุ่มถามเวลาไปบินอยู่แล้ว ดังนั้นลูกเรือแอร์เอเลยพอตอบกันได้บ้าง
แม้จะจำรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม

นอกจากนี้ เรายังต้องฝึกปฏิบัติ CPR กับหุ่นแอนนี่ (Annie Rescue)
เพื่อเราจะได้สามารถช่วยกระตุ้นการหายใจและปั๊มหัวใจขึ้นมาได้ในกรณีฉุกเฉิน
ถามครูฝึกว่าในความเป็นจริง มีคนมากน้อยแค่ไหนที่รอด
ครูยิ้ม ไม่ตอบ แล้วบอกว่า ก็ถ้าช่วยเค้าทันภายในสี่นาทีก็อาจจะรอด
อันนี้หมายถึงถ้ามียาฉีดกระตุ้น มีเครื่อง AED ช่วยปั๊มกันขึ้นมา มันก็จะโอกาสรอดเยอะขึ้นด้วย
แต่ส่วนมาก ไม่ค่อยทันกันหรอก เพราะคนที่มีความรู้ สามารถ CPR กันขึ้นมาได้ มีน้อยมาก
เฮ้อ !!!
นึกถึงเคสผู้โดยสารเป็น Heart Attack บนรถรับส่งระหว่างอาคารผู้โดยสารและเครื่อง
วันนั้น ถ้ามีคนที่ทำ CPR เป็นมาช่วยเค้าทัน เค้าอาจจะรอดก็ได้นะ
อย่างน้อย ถ้ามาเป็นตรงหน้าเครื่อง ลูกเรือก็อาจจะพอปฐมพยาบาลเค้าได้
วันแรกไม่มีสอบอะไร
แต่กลับบ้านต้องอ่านหนังสือกันมากมายเพื่อเตรียมสอบในวันรุ่งขึ้น
วันที่สอง - - > Safety and Exam
อ่านหนังสือเครียดปางตายเพราะไม่รู้ว่าจะต้องสอบอะไรยังไงตรงไหนบ้าง
เลยอ่านเน้นๆตรง Procedure ต่างๆทั้งในยามปรกติและยามฉุกเฉินและอ่าน Emergency Equipmentทั้งหมด
เคยคิดว่าจำได้เยอะแยะ แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็ลืมไปเยอะเหมือนกัน
คิดอีกที ก็ดีที่เราได้เอามานั่งทบทวนไม่งั้นเวลาเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอะไรขึ้น คงโบร๋ววกันถ้วนหน้า
ภาคเช้าพี่อ้อมซึ่งเป็น instructor มาสอนทบทวนสรุปให้เรา
ไม่งั้นพวกเราคงเอ๋อกันได้มากกว่านี้
ขอบคุณพี่อ้อมจริงๆที่ทำให้เราเข้าใจอะไรได้ดีขึ้น
นั่งมองพี่เค้าสอนแล้วแอบคิดในใจ
พี่เค้าเก่งอ้ะ สอนได้เป็นเรื่องเป็นราว
จำได้ไงหมดไม่รู้ คัมภีร์ safety เล่มเบ้อเร่อ
ตอนบ่ายสอบ safety คะแนนไม่ได้อย่างที่หวังเอาไว้
แต่ก็โอเคหละได้ 98 จาก 100
คนเราไม่มีใครเกิดมาเพอร์เฟ็คท์ทั้งหมด ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว
ส่วน First Aid พี่แอร์มาติวทบทวนให้อีกทีก่อนสอบ
แอบดีใจว่าไอ้ที่เค้าทบทวนน่ะ เราอ่านมาตรงเว้ย
น่าจะอาการไม่หนักมากเท่าไหร่
ปรากฏว่าคะแนนออกมาได้ร้อยเต็ม
ดีใจๆๆ
ตกเย็นสอบเสร็จ นั่งกินข้าวชิลๆกับบีวิชและคุณครู
คิดถึงคุณครูมากมาย
เพราะตั้งแต่มัวแต่ยุ่งกับการเรียนการสอบสามคอร์สติดต่อกัน ไม่ได้เจอคณครูเลย

วันที่สาม - - > Drill
วันที่สามเป็นการฝึกภาคปฏิบัติทั้งหมด
เริ่มจากการไปเทรนและสอบเกี่ยวกับการดับเพลิงที่หน่วยดับเพลิงของสุวรรณภูมิ
ตอนนั่งเทรนอยู่ก็นั่งมองคุณครูไปพลางๆ
คุณครูสอนดับเพลิงเท่มากๆค่ะ ^__^ (แอบหล่อด้วย เอิ้กกก)
เห็นว่าเป็นทหารอากาศ แล้วโดนส่งไปเรียนต่อเรื่องการดับเพลิงบนอากาศยานโดยเฉพาะ
ในเมืองไทยจะมีซักกี่คนที่เก่งและโชคดีขนาดนี้
คุณครูสอนจนจบคอร์ส แล้วก็พาพวกเราไปดับเพลิงกันที่Sim
เพิ่งได้เห็นว่าที่หน่วยของสุวรรณภูมิมีเครื่องบินจำลองไว้ให้เราฝึกการดับเพลิงจริงๆด้วย
เป็น Sim ยี่ห้อ Dragger ซึ่งคนในวงการบินน่าจะรู้จักว่าเป็นยี่ห้อของเครื่อง Protective Breathing Equipment ที่อยู่บนเครื่อง
เค้าจำลองsimเป็นเครื่อง B747 แต่พอเราเห็นเครื่องจำลองที่ว่าแล้ว
อะโห.....ขนาดยังกะเครื่องแอนโทนอฟ Antonov 225
( ใครไม่เคยเห็นเจ้าเครื่อง Antonov นี่ขอบอกว่าคุณโชคดีแล้ว
มันเป็นเครื่องบินของรัสเซียเอาไว้ลำเลียงอากาศยานและขีปนาวุธ
เป็นเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ไม่แน่ใจว่าตอนนี้โดนทำลายสถิติรึยัง แต่น่าจะยังไม่โดนลบสถิติหรอก
เพราะมันใหญ่โตน่ากลัวเหลือเกิน เห็นแล้วนึกถึงปลาวาฬตัวโตๆ)
เม้าท์เรื่อง Antonov มาซะยาว กลับมาเรื่องของการดับเพลิง
พวกเราก็ดับเพลิงกันสนุกสนานดี สอบผ่านกันชิลๆทุกคน
สอบเสร็จ เราก็ต้องไปต่อกันที่ Wet Drill หรือฝึกการลงฉุกเฉินบนน้ำ
วิธีการก็คือเค้าจะสอนให้เราคุ้นเคยกับการใช้ Life Vest
และให้รู้ว่าถ้าเราต้องลงฉุกเฉินบนน้ำ เราจะต้องทำอะไร หรือต้องไม่ทำอะไรบ้าง
โชคดีที่เคยฝึกมาหนักหน่วงมากสมัยอยู่เอเชียน่า เลยผ่านตรงนี้มาได้ไม่ลำบากเท่าไหร่
ที่ลำบากคือลงน้ำตอนบ่ายๆ แดดกำลังร้อนจี๋ ขึ้นน้ำมาอีกทีก็แดดร่มลมตกพอดี
คงดำได้มากกว่าเดิมอีกแน่นอน T_T
โชคดีที่ทาครีมกันแดดไว้ ถึงจะดำยังไง ก็คงไม่ไหม้แน่นอน
การฝึกอย่างสุดท้ายคือการฝึกบนเครื่องจริงๆ
ทั้งการเปิดปิดประตูใน Normal Procedure และ Emergency Procedure
การโดดสไลด์ ทั้งแบบลงไปคนเดียว และการช่วยเหลือผู้อื่น
Brush up เกี่ยวกับ Overwing Exit ทั้งการบรีฟผู้โดยสารและวิธีการเปิด Overwing Exit
ได้เข้า Cockpit ไปเรียนรู้ระบบ Oxygen และเรียนเกี่ยวกับ Pilot Incapacitation
ที่ประทับใจคือได้นั่งที่นั่งนักบิน เพื่อเรียนการเปิดปิด Cockpit Sliding Window ด้วย
เฮ้อ ! ชาตินี้คงไม่มีโอกาสได้ไปนั่งตรงนั้นกับเค้าหรอก
แค่นั่งนานทีปีหนก็พอใจแล้ว

No comments:

Post a Comment