Friday, January 19, 2007

เอกสารทริปไหว้พระ 9 วัด

แวะเอามาแปะเสียหน่อย อุตส่าห์ทำตั้งนาน

วัดไชโยวรวิหาร (วัดเกษไชโยหรือวัดไชโย)
พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร
อ.ไชโย จ.อ่างทอง

เดิมเป็นสำนักสงฆ์พระอาจารย์แดง มีความสำคัญคือเป็นสำนักสงฆ์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) ได้บรรพชาเป็นสามเณร ต่อมาสมัยปลายรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อขอพระราชทานที่ดิน สร้างพระพุทธรูปปูนขาวประทับนั่ง ปางมารวิชัย ขนาด 8 วา 7 นิ้ว (16 ม.)สูง 11 วา 1 ศอก 7 นิ้ว (22ม.)ใช้เวลาสร้างกว่า 3 ปีจึงแล้วเสร็จ ถวายพระนามว่า พระมหาพุทธนันท์และสร้างเป็นวัดขึ้น เรียกในสมัยนั้นว่าวัดเกตุไชโยเพื่อรำลึกถึงพระคุณโยมบิดามารดาของท่าน

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ มานมัสการและโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (บุญรอด) ตำแหน่งสมุหนายก เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นเมื่อ พ.ศ.2430 แต่แรงสั่นสะเทือนทำให้องค์หลวงพ่อโตพังลงมาทั้งองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการสร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่ตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร และพระราชทานนามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” (หรือที่ชาวบ้านแถบนั้นเรียกกันตามพระนามของสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า หลวงพ่อโต) จากนั้นจึงรับวัดนี้เข้าเป็นพระอารามหลวง

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของวัดเกษไชโย ได้แก่ โบสถ์ที่อยู่ต่อเนื่องกับวิหารพระมหาพุทธพิมพ์ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทย ผสมผสานกับศิลปะยุโรปสมัยโกธิค กล่าวคือสร้างเป็นวิหาร มีมุข 2 ชั้น หากมองจากหน้าตรงจะเห็นหน้าบัน 3 ชั้นลดหลั่นลงมา ตัวพระวิหารก่ออิฐถือปูนผนังหนา เจาะหน้าต่างโค้ง แต่แหลมสูง ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ออกแบบผสมผสานระหว่างศิลปะไทยสมัยรัชกาลที่ 5 และศิลปะยุโรป ภายในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติชาดก สันนิษฐานว่าเป็นภาพจิตรกรรมที่สร้างขึ้นภายหลังในสมัยรัชกาลที่ 6

วัดอัมพวัน
อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

มีพื้นที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทราบได้จากหลักฐานศิลาจารึกในพระบุโบสถหลังเก่าจารึกเป็นภาษาจีนว่าวัดนี้สร้างขึ้นโดยชาวจีนที่มาค้าขายในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ปัจจุบัน วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี เป็นวัดที่มีชื่อเสียงในภาคกลาง เป็นที่รู้จักกันดีด้านการปฏิบัติธรรมสายวิปัสสนากรรมฐาน มีผู้เดินทางไปปฏิบัติรรมอย่างไม่ขาดสาย (หากสนใจจะปฏิบัติธรรมที่วัดนี้ ต้องสมัครในวันศุกร์ และปฏิบัติธรรมในวันเสาร์ – อาทิตย์) โดยมีพระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธฺมโม) เป็นผู้นำอบรมกรรมฐาน นอกจากนี้ ทางวัดยังได้รับการยกย่องจากกรมการศาสนาให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างอีกด้วย

วัดประโชติการาม(วัดประโชติ)
อ.เมือง จ.สิงห์บุรี

เดิมชื่อ “วัดประโชติ” หรือชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดประชด” ภายในมีพระวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระอัฏฐารส*คู่ปางห้ามญาติที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมากทั้งสององค์ องค์แรกคือหลวงพ่อสิน ประดิษฐานด้านหน้า สูง 3 วา 3 ศอก 5 นิ้ว (ประมาณ 7.25 เมตร) มีซุ้มเรือนแก้วอยู่เหนือพระเศียร ส่วนหลวงพ่อทรัพย์ประดิษฐานอยู่ด้านหลัง สูง6 วา 7 นิ้ว (ประมาณ 12 เมตร) พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้เป็นศิลปะสกุลช่างสุโขทัยผสมผสานกับอยุธยาจึงมีลักษณะท่ายืนอ่อนช้อยแต่แฝงความน่าเกรงขามอยู่ด้วย

พระอัฏฐารสคู่นี้ เป็นที่นับถือสักการะของประชาชนทั่วโป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการทำธุรกิจ การค้าขาย และเรื่องความมั่งมีทรัพย์สินเงินทอง

*พระอัฎฐารส หมายถึงพระยืนสูง 18 ศอก หรือ ประมาณ 7.25 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่นิยมสร้างกันในสกุลช่างสุโขทัย ซึ่งคงได้รับอิทธิพลจากศิลปะลังกาอีกทอดหนึ่ง ตามตำนานกล่าวกันว่าเมืองใดมีพระอัฎฐารสประดิษฐานอยู่ เมืองนั้นจะมีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนอยู่กันอย่างมีความสุข

วัดสาลโคดม
อ. อินทร์บุรี จ. สิงห์บุรี

เป็นวัดสำคัญ ที่เกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องจาก หม่อมหลวงบัว กิติยากร พระชนนีในพระองค์ มีศรัทธาเป็น ประธานวางศิลาฤกษ์อุโบสถ ไว้เมื่อพ.ศ. 2517 และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชศรัทธา พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนเริ่มก่อสร้าง

เดิมวัดศาลโคดมนี้เป็นวัดร้าง ต่อมามีชาวบ้านขุดพบเศียรพระพุทธรูปในบริเวณวัด จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐาน และสักการบูชา แล้วจึงสร้างองค์พระเพิ่มเติมภายหลัง ชาวบ้านจึงขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่าหลวงพ่อเศียรหรือพระนามเต็มคือ “พระพุทธชินวรมุณี”
หลวงพ่อเศียร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิศิลปะสกุลช่างอยุธยาตอนกลาง ที่ว่ากันว่ามีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทย มีความศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการซื้อขายที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ยังเป็นพระประธานองค์เดียวในประเทศไทยที่ผู้มานมัสการสามารถเดินลอดภายใต้ฐานชุกชีของพระประธานนั้นโดยเชื่อกันว่าเป็นการสะเดาะเคราห์ต่อชะตาชีวิต และเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

วัดสาลโคดมมีต้นสาละปลูกอยู่โดยรอบ ต้นสาละเป็นต้นไม้ในพุทธประวัติกล่าวคือเป็นพระพุทธองค์ประสูติและปรินิพานใต้ต้นสาละ ดังนั้นจึงเป็นความเชื่อแต่โบราณว่าต้นสาละเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์นิยมปลูกกันในวัด นอกจากนี้ยังเชื่อกันอีกว่าหากอธิฐานใต้ตนสาละแล้วปรบมือจนดอกสาละร่วงใส่มือแล้วนั้น คำอธิฐานจะสมปรารถนา

วัดพระปรางค์มุนี
อ.เมือง จ.สิงห์บุรี

จุดเด่นที่สังเกตได้ชัดเจนเมื่อมาถึงวัดพระปรางค์มุนีคือพระปรางค์ขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมสูงที่สามารถเห็นได้จากระยะไกล รอบองค์พระปรางมีทางขึ้น เมื่อขึ้นไปถึงด้านบนจะสามารถเห็นทัศนียภาพรอบบริเวณวัด ใกล้องค์พระปรางค์นั้น เป็นที่ตั้งของวิหาร “หลวงพ่อเย็น” พระพุทธรูปสมัยอยุธยา เชื่อกันว่าให้โชคลาภด้านความอยู่เย็นเป็นสุข เมตตามหานิยม และบำบัดโรคภัย ข้างวิหารหลวงพ่อเย็นนั้นคือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเดิมเป็นเนินดิน ต่อมาเมื่อวัดขุดดินมาถมวิหารจึงมีการขุดพบกรุพระจำนวนมาก เมื่อนำพระขึ้นมาก็มีน้ำผุดขึ้นมาเนืองนอง ว่ากันว่าน้ำจากบ่อน้ำแห่งนี้มีคุณสมบัติคล้ายน้ำมนต์

เมื่อขึ้นไปบนศาลาวัดจะพบกับสิ่งมหัศจรรย์สองประการ ได้แก่ พ่อช้างน้อย และมักกะลีผล

พ่อช้างน้อยคือลูกหมูที่ตายตั้งแต่แรกเกิด มีลักษณะคล้ายช้าง บันดาลโชคลาภและความร่ำรวยให้แก่ผู้เป็นเจ้าของ ต่อมาเจ้าของจึงนำมาถวายวัดเพื่อความเป็นสิริมงคล

ส่วนมักกะลีผลนั้น ตามตำนานเล่ากันว่ามักกะลีผลเป็นต้นไม้ที่ขึ้นในป่าหิมพานต์ ผลมีลักษณะคล้ายหญิงสาว แม้มักกะลีผลที่วัดปรางค์มุนีจะดูเหี่ยวแห้ง ไม่เจริญตา แต่ก็นับว่าเป็นของมหัศจรรย์ที่น่าสนใจ ประวัติของมักกะลีผลนี้ เล่าสืบต่อกันมาว่าสมัยหลวงพ่อตุ๊เป็นเจ้าอาวาสวัดกลางทุ่ง จ.ลพบุรี ได้มีชายแก่ท่าทางสกปรกมอมแมม กลิ่นตัวเหม็น เข้ามาขอพบหลวงพ่อ แม้ญาติโยมจะแสดงอาการรังเกียจ แต่หลวงพ่อตุ๊กลับไม่แสดงอาการ กลับสนทนาปราศรัยด้วยเป็นอย่างดี ทั้งยังอนุญาตให้พักที่วัดตามอัทยาศัยและได้นำอาหารที่ญาติโยมถวายท่านไปให้ชายผู้นั้นรับประทาน เมื่อชายผู้นั้นรับประทานเสร็จ ก็ออกเดินทางต่อไปทันที โดยไม่ฟังคำทัดทานของหลวงพ่อ ก่อนออกเดินทางก็ได้ทำนายว่าอีก 3 ปีหลวงพ่อตุ๊จะมรณภาพให้รีบทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา แล้วจึงมอบกล่องใบหนึ่งให้โดยสั่งความให้หลวงพ่อมอบต่อให้กับบุตรชาย เมื่อหลวงพ่อตุ๊มรณภาพลง บุตรชายของท่านจึงได้เปิดกล่องดูแล้วพบมักกลีผลดังกล่าว ภายหลังจึงได้อัญเชิญมาที่วัดพระปรางค์มุนี

วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
อ.เมือง จ.สิงห์บุรี

ชาวบ้านเรียกสั้นๆว่าวัดพระนอน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติการสร้างวัดอยู่หลายสำนวน สำนวนที่กล่าวถึงกันมาที่สุดเป็นนิทานปรำปราเล่าว่าเจ้าสิงหพาหุ(ไม่ปรากฏว่าสมัยใด) มีความอับอายเมื่อพบว่าบิดาของตนเป็นสิงห์ซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉาน จึงได้ทำปิตุฆาต ภายหลังสำนึกผิดจึงได้สร้างพระพุทธรูป เพื่อไถ่บาปโดยเอาทองคำแท่งขนาด 3 กำมือ ยาว 1 เส้นเป็นแกนองค์พระ มีหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระนี้หลายครั้ง เท่าที่ปรากฏคือในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระนอนจักรสีห์นั้นเป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ไสยาสน์ปางโปรดอสุรินทราหู* มีพุทธลักษณะตามแบบพระพุทธรูปสกุลช่างสุโขทัย มีความยาวทั้งสิ้น 1 เส้น 3 วา 2 ศอก1 คืบ 7นิ้ว (ประมาณ 47 เมตร) พระพักตร์ยิ้มละไม หันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก พระกรขวายื่นไปด้านหน้า ไม่งอพระกรขึ้นรับพระเศียรตามแบบพุทธลักษณะพระพุทธรูปอินเดียแต่พระบาทซ้อนกันตรงเหมือนพระพุทธรูปปางไสยาสน์ทั่วไป

ภายในอารามที่พระนอนจักรสีห์ประดิษฐานอยู่นั้น ยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยคู่หนึ่ง พระนามว่าพระแก้ว พระกาฬ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อถวายให้เป็นพระคู่บารมีพระนอนจักรสีห์ พระกาฬนั้นเป็นพระพุทธรูปศิลาปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ส่วนพระแก้วนั้นเป็นพระพุทธรูปหล่อประทับนั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัยเช่นกัน

*พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหูมาจากพุทธประวัติตอนหนึ่งที่ว่า อสุรินทราหู ผู้เป็นอุปราชครองอสูรพิภพเห็นบรรดาทั้งเทวดาทั้งหลายพากันเหาะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็อยากจะไปเข้าเฝ้าบ้างแต่ก็มีทิฐิ เกรงว่าถ้าไปเฝ้าแล้วจะต้องก้มลงมองพระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์ตัวเล็กกว่าตนเองซึ่งก็เท่ากับเป็นการก้มหัวให้ในขณะที่ถือว่าตนเองนั้นยิ่งใหญ่ไม่เคยต้องก้มหัวให้ผู้ใด วันหนึ่งอสุรินทราหูเกิดทนไม่ได้ ตั้งใจว่าถึงอย่างไรก็ต้องไปเข้ าเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณ ก็ทรงทราบว่าจะต้องทำลายทิฐิมานะของอสุรินทราหูเสียก่อน จึงเนรมิตองค์ให้ใหญ่โต ไปประทับไสยาสน์หนุนภูเขาต่างหมอน พออสุรินทราหูมาเฝ้าจึงต้องกลับต้องแหงนหน้าแทน จนเกิดความชื่นชมในพระพุทธลักษณะ แล้วคลายทิฐิลงยอมฟังธรรมจากพระพุทธองค์

วัดพิกุลทอง
พระอารามหลวง ชั้นตรี
อ. ท่าช้าง จ. สิงห์บุรี

วัดนี้ชาวบ้านมักรู้จักกันในนาม “วัดหลวงพ่อแพ” (พระเทพสิงหบุราจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี) ด้านหนึ่งของวัดมีพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติและเครื่องอัฐบริขารของหลวงพ่อแพ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้านหนึ่งของวัดนี้มีพระพุทธรูปปางประทานพร คือ พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี (หลวงพ่อใหญ่) ด้านหน้าวัดมีแม่น้ำน้อยไหลผ่าน มีปลาอาศัยอยู่จำนวนมากจนได้รับการขนานนามว่า “วังมัจฉา” ส่วนทางเข้าด้านติดถนนนั้นมีสินค้าพื้นเมืองซึ่งชาวบ้านแถบนั้นทำมาจำหน่าย

หลวงพ่อแพ หรือพระเทพสิงห็บุราจารย์นั้น เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองสิงห์บุรี ท่านเป็นที่เลื่อมใสในหมู่ประชาชนทั่วไปเนื่องจากท่านเป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติงดงาม มีวิธีการเทศน์ให้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งยังเป็นผู้นำชุมชนในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และฟื้นฟูบูรณะค่ายบางระจัน เมื่อท่านมรณภาพได้รับพระราชทานโกศบรรจุศพจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางวัดจึงได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อเชิดชูเกียรติประวัติของท่านและประดิษฐานโกศตกแต่งด้วยพวงหรีดไว้ภายใน วิหารด้านตรงข้ามนั้นเป็นวิหารรูปหล่อหลวงพ่อแพซึ่งผู้มาเยือนสามารถแวะนมัสการได้เช่นเดียวกัน

อีกด้านของวัดนั้นเป็นที่ประดิษฐานของพะพุทธสุวรรณมงคลมหามุนีหรือหลวงพ่อใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางประทานพรขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีขนาดหน้าตักกว้าง 11 วา 2 ศอก 7 นิ้ว (ประมาณ 22 เมตร) สูง 21 วา 1 คืบ 3 นิ้ว (ประมาณ 42 เมตร) ภายในเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยโมเสคทองคำธรรมชาติชนิด 24 เค จากประเทศอิตาลี มีวิหารคตเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำวันต่างๆ เรียงรายโดยรอบ ที่ใต้ฐานมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับนรก-สวรรค์ พร้อมทั้งมีสวนจัดล้อมรอบบริเวณ มีบรรยากาศร่มรื่น

วัดขุนอินทประมูล
อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง

จากหลักฐานที่พบตามรอยคันดินเดิม เชื่อกันว่าวัดขุนอินทประมูลเป็นวัดเก่าแก่ สร้างร่วมสมัยกับกรุงสุโขทัย ตามตำนานเชื่อกันว่าพระยาเลอไทเสด็จทางชลมารคมาทางแม่น้ำน้อยเพื่อบูชาฤษีสุกกะทันตะ ที่เมืองละโว้ ขณะประทับแรมอยู่นั้น ได้เกิดนิมิตเป็นลูกไฟลอยขึ้นเหนือยอดไม้ จึงได้โปรดเกล้าฯให้สร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา สร้างเสร็จประมาณปีพ.ศ. 1870 แล้วพระราชทานพระนามพระพุทธรูปนั้นว่าพระพุทธไสยาสน์เลอไทนิรมิต

พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ มีลักษณะใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ที่วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร กล่าวคือเป็นพระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู สกุลช่างสุโขทัย ขนาดประมาณ 25วา (ประมาณ50เมตร) เป็นพระพุทธไสยาสน์องค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย พระพักต์ยิ้มละไม จึงเชื่อว่าสร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน เดิมพระพุทธรูปประดิษฐานในพระวิหารแต่เมื่อเกิดไฟไหม้วิหารพังทลายลงก็ไม่สามารถบูรณะซ่อมแซมได้ดังเดิม เนื่องจากทุกครั้งที่ทำการบูรณะ จะมีฟ้าผ่าลงที่บริเวณหลังคาไม่สามารถต่อเติมได้ จึงเชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้โปรดประทับกลางแจ้ง เคยมีพระมหากษัตริย์ไทยมานมัสการหลายพระองค์ อาทิเช่น พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลปัจจุบัน

ตำนานอีกสำนวนหนึ่งนั้นเล่าถึงขุนอินทประมูลเป็นขุนนางมีหน้าที่เก็บภาษีในสมัยอยุธยา ต้องการนำเงินมาสร้างวัดเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาแต่มีเงินไม่พอ จึงได้ยักยอกเงินหลวงเพื่อมาก่อสร้าง เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบความ มีคำสั่งให้ไต่สวน ขุนอินทร์ไม่รับสารภาพ จึงรับสั่งให้เฆี่ยน 3 ยก (300ที) แต่ขุนอินทร์สิ้นใจคาหวายในยกแรก ผู้คนจึงนำศพของขุนอินทร์มาฝังไว้ในบริเวณวัด ต่อมาเมื่อประมาณพ.ศ. 2541มีผู้ขุดพบโครงกระดูกชายไทยสภาพศพมีเชือกมัดมือไพล่หลัง จึงเชื่อกันว่าโครงกระดูกนี้คือศพขุนอินทร์ที่นำมาฝังไว้นั่นเอง

วัดต้นสน
อ.เมือง จ.อ่างทอง

จากหลักฐานทางสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถหลังเก่าพบว่าวัดต้นสนเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย (น่าจะสร้างราว พ.ศ. 2310) แต่ไม่สามารถชี้ชัดได้ เนื่องจากขาดหลักฐานทางจดหมายเหตุ ต่อมาเมื่อพ.ศ. 2488 ราชสุวรรณโมลี อดีตเจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง ได้ริเริ่มการก่อสร้างและขยับขยายอาณาเชตของวัด ทั้งยังได้รับพระราชทานวิงสุงคามสีมา*อีกด้วย ปัจจุบันวัดต้นสนจึงเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ และมีสภาพใหม่เกือบทั้งวัด ด้านที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยามีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าเป็นวังปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดอ่างทองทีเดียว

พระพุทธรูปที่ประดิษฐานในวัดต้นสนนั้นคือสมเด็จพระพุทธนวโลกุตร ธัมมบดีศรีเมืองทอง ( สมเด็จพระศรีเมืองทอง) เป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมารขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว (ประมาณ 12 เมตร) สูง 9 วา 1 ศอก 19 นิ้ว (ประมาณ 18 เมตร) หล่อด้วยทองเหลืองเกือบทั้งองค์ลงรักปิดทอง มีพระพุทธลักษณะงดงามเนื่องจากสร้างโดยจำลองแบบพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก สกุลช่างสุโขทัยผสมผสานกับรัตนโกสิทร์

*วิสุงคามสีมา หมายถึงเขตที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่สงฆ์เพื่อใช้ที่ดินนั้นสร้างโบสถ์เพื่อใช้เป็นเป็นที่ทำสังฆกรรม

อธิบายความหมายของคำว่า “พระอารามหลวง”

ประเทศไทยนับได้ว่าเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา สถานที่ชุมนุมสำคัญของพุทธศาสนาสนิกชนก็คือ วัด ในประเทศไทยมีวัดเป็นจำนวนมาก แบ่งออกเป็น พระอารามหลวง หรือ วัดหลวง วัดราษฎร์ และวัดร้าง

พระอารามหลวง คือวัดที่พระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงสร้างหรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์ หรือทรงรับไว้เป็นวัดของพระราชวงศ์ หรือมีผู้สร้างน้อมเกล้าฯถวายเป็นวัดหลวง การกำหนดแบ่งชนิดของพระอารามหลวงเริ่มมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2457 ส่วนการจัดลำดับชั้นของพระอารามหลวงนั้นมีขึ้นภายหลังคือในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2485
วัดราษฎร์ ได้แก่วัดที่ประชาชนสร้าง หรือปฏิสังขรณ์
วัดร้าง คือวัดที่ชำรุดทรุดโทรม ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ทางราชการจะขึ้นทะเบียนไว้ หากได้รับการบูรณะแล้วอาจยกเป็นวัดมีพระสงฆ์ต่อไป

การแบ่งชั้นพระอารามหลวงแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นเอก ชั้นโท และชั้นตรี แต่ละชั้นยังแยกระดับออกไปอีกหลายระดับ โดยมีสร้อยต่อท้ายชื่อวัดตามฐานะดังนี้

1. พระอารามหลวง ชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดหลวงที่มีฐานะสูงสุด มีทั้งหมด 6 วัด คือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์, วัดสุทัศนเทพวราราม, วัดอรุณราชวราราม, วัดพระปฐมเจดีย์ (จ.นครปฐม), วัดพระพุทธบาท (จ. สระบุรี)

2. พระอารามหลวง ชั้นเอก ได้แก่ วัดที่มีความสำคัญ มีเจดียสถานบรรจุพระบรมอัฐิ หรือเป็นวัดที่มีเกียรติสูง มี ๓ ระดับ คือ
1. ราชวรมหาวิหาร
2. ราชวรวิหาร
3. วรมหาวิหาร

3. พระอารามหลวง ชั้นโท ได้แก่วัดที่มีเจดียสถานสำคัญ หรือวัดที่มีเกียรติ มี ๔ ระดับ คือ
1. ราชวรมหาวิหาร
2. ราชวรวิหาร
3. วรมหาวิหาร
4. วรวิหาร

4. พระอารามหลวง ชั้นตรี ได้แก่วัดที่มีเกียรติ วัดประจำหัวเมือง หรือวัดที่มีความสำคัญชั้นรอง มี ๓ ระดับ คือ
1. ราชวรวิหาร
2. วรวิหาร
3. วัดที่ไม่มีสร้อยต่อท้าย (สามัญ)

No comments:

Post a Comment