Friday, February 24, 2006

หัวอกน้องคนเล็ก Mungne in SPN

Image hosting by Photobucket
ตัว Saipan-daสัญลักษณ์ของไซปันค่ะ

ตอนนี้ฉันอยู่ที่ไซปันค่ะ เป็นเกาะขนาดเล็ก ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก
แต่ที่จะเขียนวันนี้ไม่เกี่ยวกับไซปันหรอกค่ะ
ฉันยังมีโอกาสมาที่ไซปันอีกหลายครั้ง
ที่ฉันจะเล่าวันนี้คือ เรื่องของคนที่จะเป็น Mungne หรือน้องเล็กสุดในหมู่แอร์เกาหลี
ในสังคมเกาหลี ระบบอาวุโส หรือ Seniority เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว โรงเรียน หรือที่ทำงาน
คำว่าพี่ หรือรุ่นพี่มักได้รับความสำคัญเสมอ
คนเป็นพี่มักจะได้รักโอกาสให้เลือกในสิ่งที่ชอบ หรือไม่ชอบก่อน
ฟังดูคล้ายกับสังคมคนไทยนะคะ แต่เชื่อเถอะค่ะว่าต่างกันพอสมควร
ในสังคมไทยนั้น พ่อแม่มักจะโอ๋ลูกคนเล็ก
จะทำอะไรก็บอกว่าให้น้องเลือกก่อน เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง
ลูกคนเล็กมักได้รับการปกป้องคุ้มครองนานกว่าลูกคนอื่นๆ
ต่างจากสังคมเกาหลีที่ลูกคนโตมักจะได้รับการตามใจ
ได้โอกาสในการเลือกสิ่งที่ชอบ หรือไม่ชอบก่อน
เช่นเดียวกับสังคมโรงเรียน หรือที่ทำงานของชาวเกาหลี
คำว่า"รุ่นพี่"หรือซอนแบนิม มีอานุภาพยิ่งใหญ่
ไม่มาทำงานกับชาวเกาหลี อาจจะนึกไม่ออกเลยทีเดียว
เรื่องของรุ่นพี่ วันนี้ขอเก็บไว้ก่อน วันไหนว่างๆ จะมาเม้าท์อีกที
แต่เรื่องที่จะเล่าวันนี้คือเรื่องของ"น้องคนเล็ก"ดังที่ได้จั่วหัวข้อเอาไว้แล้ว
วันนี้ฉันมีโอกาสได้เป็น"น้องคนเล็ก" หรือมังเน่(Mungne)ในไฟลท์ที่บินมาไซปัน
นานกว่าปีแล้วค่ะ ที่ฉันไม่มีโอกาสได้ทำงานในตำแหน่งนี้ นับตั้งแต่ฉันเริ่มมีรุ่นน้องเข้ามาทำงาน
สังคมที่นี่(ไม่แน่ใจนะคะว่าที่บริษัท หรือในสังคมเกาหลีด้วย)
ผู้เป็นน้องเล็ก มีหน้าที่สำคัญที่สุดในการทำตัวพินอบพิเทาให้มากที่สุด
ในเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานนั้น หน้าที่ของน้องเล็กมักได้แก่
การจัดหนังสือพิมพ์ การจัดห้องน้ำ (รวมไปถึงการทำความสะอาดด้วยนะ ) การเก็บทิป
นอกเหนือจากการทำงานเช่น การโทรปลุกรุ่นพี่ก่อนเวลา show up
(ไม่เข้าใจเหมือนกันค่ะว่าโรงแรมเขาก็โทรให้แล้ว จะต้องทำซ้ำอีกทำไม ก็บอกแล้วว่าเป็นธรรมเนียมของที่นี่)
น้องเล็กต้องทำตัวพินอบพิเทาสุดๆ สำเร็จออกมาจาก training เมื่อไหร่
ใครประจบสอพลอรุ่นพี่ได้เร็ว มักได้รับความเอเอ็นดูกว่าคนอื่นๆ
บางทีเวลาเราเข้าห้อง brief น้องเล็กมักจะมีขนมเล็กๆน้อยๆเอามาวางไว้ให้เรา
เป็นการแสดงattitude ที่ดีว่าเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (จะได้ไม่โดนจิกมาก)
เวลาลงจากรถ เข้าแถว หรือแม้แต่เดินเข้าเครื่อง น้องคนเล็กต้องเดินตามหลังรุ่นพี่
เช่นเดียวกัน เวลาทานข้าว รุ่นน้องต้องรอรุ่นพี่ที่โตสุดในครัว เป็นผู้เริ่มทานก่อน รุ่นน้องจึงจะลงมือได้
ถ้ามีอาหารมากกว่า 1 อย่างให้เลือก แน่นอนว่ารุ่นพี่ต้องเป็นผู้เลือกก่อนเท่านั้น
เวลาทำงาน ถ้ามีผู้โดยสรกดปุ่มเรียก ผู้เป็นรุ่นน้องต้องแสดงความกระฉับกระเฉง วิ่งออกไปก่อน
เวลาทำงาน รุ่นพี่ทำงานอะไร น้องเล็กต้องแถเข้าไปช่วย (ไม่งั้นจะโดนเขียนจดหมายด่าลับหลังว่าทัศนคติแย่ -_-')
ที่จริงการเป็นน้องเล็กยังมีรายระเอียดจุกจิกอีกเยอะ เพียงแต่ตอนนี้คิดออกเท่านี้
อันที่จริงถ้าเราเป็นน้องเล็กที่ดี มีสัมมาคารวะกับรุ่นพี่ ทำงานขยันขันแข็ง
การเป็นน้องเล็กก็มีข้อดีเหมือนกัน (เท่าที่พยายามนึกให้ออก)
การทำงานเป็นน้องเล็กนั้น หน้าที่ความรับผิดชอบน้อยที่สุดในเครื่อง
แน่หละ งานที่เราทำมักเป็นงานประเภทใช้แรงทั้งนั้น ~>_<~ แต่หน้าที่จำพวกเช็คอาหาร เช็คอาหารพิเศษ เช็คอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคที่ต้องโหลดมาใช้บนไฟลท์ ล้วนแล้วแต่เป็นหน้าที่ของรุ่นพี่ทั้งสิ้น ฉันเคยเจอไฟลท์น่ากลัวสุดๆครั้งนึงตอนทำหน้าที่เป็นน้องเล็ก วันนั้นฉันบินไฟลท์นิวยอร์คครั้งแรก (อันที่จริงครั้งเดียวเท่าที่เคยได้มา) แจ็กพ็อตแตกที่ไฟลท์ฉันพอดี๊ สายการบินเกาหลี ที่บินผ่านอเมริกาโดนขู่วางระเบิด สายการบินเกาหลีมีสองสายที่บินเข้าอเมริกาคือ KE กับ OZ ส่วนปลายทางอเมริกานั้นมีเป็นสิบ ไม่รู้ว่าจะโดนเอาเมืองไหน เครื่องเราออกจาก JFK มาแล้ว และได้รับแจ้งก่อนลงเติมน้ำมันที่ ANC กว่าจะผ่าน Safety procedure มาได้ เล่นเอาฉันขุดวิชาความรู้ทั้งยวงออกมาใช้ (ไว้วันหลัง~อีกแล้วครับท่าน -_-' ฉันจะเล่าเรื่องนี้ลงไดอารี่ที่รัก วันนี้ยังก่อน) เมื่อกัปตันประกาศให้ลูกเรือลงจากเครื่องได้ โดยใช้วิธีแลกลูกเรือ 1:1 ฉัน ซึ่งเป็นน้องเล็กสุดในไฟลท์ เดินแปะมือแลกกับกัปตันไฟลท์ถัดไปพอดี แปลว่าความรับผิดชอบน้อยสุดไง เลยรอดตาย หนีออกมาได้ก่อนเพื่อน เห็นไหมว่า น้องเล็กก็ไม่ได้เลวร้ายนักหรอก บินไปนานๆเข้า เป็นน้องเล็กก็สนุกดีเหมือนกันนะ

1 comment:

  1. ขอบคุณมาก ๆ นะครับ สำหรับบทความดี ๆๆ

    ReplyDelete